ประวัติศูนย์ฯ

ศูนย์การศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีนโยบายเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาให้คนพิการมีชีวิตที่มีความสุข อิสระสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในปี พ.ศ. 2537 สถาบันได้เปิดสอนหลักสูตรให้กับนักศึกษาวิชาเอก-โท การศึกษาพิเศษรุ่นแรกและในปี พ.ศ. 2539 สถาบันได้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่องานช่วยคนพิการที่ครบวงจร โดยในเบื้องแรกเปิดเป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้แก่นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาพิเศษ และวิชาเอกอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยการรับเด็กพิการเข้าฟื้นฟูสมรรถภาพและ เพื่อการศึกษารายกรณีให้กับนักศึกษา และต่อมาได้พัฒนางานให้บริการวิชาการแก่ชุมชนที่เต็มรูปแบบขึ้น ในโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ เพื่อเตรียมส่งต่อกลับเข้าสู่โรงเรียนปกติ ปี พ.ศ. 2547 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการศึกษาพิเศษ ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือในการผลิตบัณฑิตระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ปี พ.ศ. 2548 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาการศึกษาพิเศษ

ศูนย์ฯได้ประสานกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน จัดการศึกษาให้กับเด็กพิการเพื่อการออก วุฒิบัตรการศึกษาให้แก่เด็กระหว่างที่เข้ารับการฟื้นฟูฯที่ศูนย์ฯ และให้กับกลุ่มคนพิการที่อายุเกินเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนไม่รับเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ ด้วยความจำเป็นต่อการช่วยเหลือผู้พิการมีเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ ประกอบด้วยเพื่อการให้ประสบการณ์แก่นักศึกษา จึงได้ขยายงานลงสู่พื้นที่ในชุมชนต่าง ๆ งานศูนย์การศึกษาพิเศษจึงได้เริ่มให้บริการในพื้นที่ในชุมชน ภายใต้โครงการพื้นฟูสมรรถภาพบุคคลพิการโดยชุมชน (Community Based Rehabilitation – CBR)

ปัจจุบันศูนย์ฯสามารถสร้างชุมชนคนพิการ ที่เข้มแข็งในรูปชมรมฯ องค์การบริการส่วนตำบลต่างๆ รวม 12 อบต.2 เทศบาลตำบล และการให้การช่วยเหลือแก่ผู้พิการทุกประเภทยังมีความต้องการอีกมาก ศูนย์ฯ ได้พยายามทำงานในรูปเครือข่ายร่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ปัจจุบันมีเครือข่ายร่วม ทั้งภาครัฐและเอกชนมีหน่วยงานตั้งอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพมหานคร